วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประวัติการสร้าง พระรอด วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ พ.ศ.๒๔๙๖

ประวัติการสร้าง พระรอด วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ พ.ศ.๒๔๙๖



ในการสร้างพุทธสถานเชียงใหม่ ซึ่งได้กระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ บริเวณวัดอุปคุต เชิงสพานเนาวรัตน์ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๖ เวลา ๑๑.๔๕น. ตรง และในเดือนเดี่ยวกันนั้นเอง ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ ปี มะเส็ง จัตวาศก จุลศักราช ๑๓๑๕ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๖ เริ่ม พิธี ๙.๒๑ น. ๔๑ วินาที และเริ่มจุดเทียนไชย เวลา ๑๙.๒๙ น. พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ประธานกรรมการจัดสร้างพระรอด พร้อม ด้วยคณะกรรมการพุทธสถานก็ได้รวมกันประกอบพิธีมหามงคลสร้างพระรอด ๘๔,๐๐๐ องค์ เพื่อสมทบทุนสร้างพุทธสถานแห่งนี้ 

พระรอดรุ่นเก่าสมัยโบราณหรือที่สร้างก่อนพระรอดรุ่นนี้ ได้เนื้อดินมาจากแห่งหนตำบลใดที่เป็นปัญหาแรกที่ต้องคิดเพราะการสร้างพระรอดนั้นจะต้องทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาทางไสยศาสตร์ ข้าพเจ้าจึงได้ไปกราบเรียนหารือกับ พล.ร.ต. หลวงสุวิชาญแพทย์ รน. เจ้ากรมเเพทย์ทหารเรือในปัจจุบัน เพื่อได้ตรวจสอบทางทิพยญาณจักษุ ก็ได้รับทราบว่าพระรอดเกือบทุกรุ่นใช้ดินบริเวณทิศเหนือของวัดพระคงจังหวัดลำพูนแต่การที่จะไปขอดิน ณ บริเวณดังกล่าวแล้วจะต้องตั้งศาลเพียงตาอาราธนาขอจากพระพุทธรูปและเทวดาที่รักษา เมื่อขุดลงไปประมาณ ๓ ศอกก็จะพบดินที่ต้องการ ข้าพเจ้าจึงได้เรียนให้คณะกรรมการพุทธสถานรับทราบและดำเนินการจนได้ดินเพียงพอแก่ความต้องการ ซึ่งดินบริเวณนี้เมื่อได้นำมาสร้างพระรอดแล้ว เนื้อองค์ของพระรอดจะแข็งแกร่ง หาอะไรเปรียบมิได้

ดินทั้งหมดที่ได้มานี้ ข้าพเจ้าได้ให้อาจารย์ผู้ทรงคุณละลายดินด้วยน้ำพระพุทธมนต์พุทธาภิเศก น้ำมนต์พระคาถาแสน น้ำมนต์ ร้อยที่และกลั่นกรองด้วยผ้าขาวสะอาดเอาแต่ผงละเอียดอ่อนซึ่งมีลักษณะเหมือนแป้ง แล้วผสมด้วยผงพระธาตุ ผงพระเบิม ผงพระเลี่ยง ผงพระคง ผงพระรอด ผงพระสมเด็จพุฒาจารย์ ประกอบด้วยผงตรีนิสิงเห ผงปัทมัง ผงพุทธคุณ และผงอิทธิเจของคณาจารย์รุ่นเก่า เช่นหลวงพ่อวัดมะขามเฒ่า หลวงพ่อทองคำวัดหนามแตง และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ผสมเคล้ากันจนเข้าเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว จึงปั้นเป็นก้อนกลมขนาดผลส้ม ส่งดินนี้ไปให้อาจารย์ฉลองเมืองแก้วชึ่งท่านทั้งหลายจะทราบกิติศัพท์ว่าอาจารย์ผู้ที่เสกตะกรุดทองลอยน้ำ เสกข้าวสารเป็นกุ้ง เป็นผู้ทำพิธีใส่ธาตุที่กรุงเทพฯ เสร็จพิธีใส่ธาตุแล้ว นำไปจัดพิมพ์ที่จังหวัดลำพูนด้วยแม่พิมพ์ ๑๑ อันได้พระรอด ๑๑ สีพอดี

เมื่อได้เวลาฤกษ์ พระมหาราชครูวามมุนี กับท่านพราหมณ์ พระครูศิวาจารย์ แห่งกรุงเทพฯพร้อมด้วยคณะเป็นประธานฝ่ายพราหมณ์มหาปัญจพิธีพร้อมด้วยโอมอ่านศิวะเวทย์ อัญเชิญท้าวเทพยะดา ทั้งหลาย ท่านฤาษีผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ฤาษีเทว หรือ ฤาษีวาสุเทพ ซึ่งสิงสถิตย์อยู่อุฉุจบรรพตริมแม่น้ำโรหินี (น้ำแม่ขาน) ฤาษี สุขทันตะเขาสามยอดเมืองละโว้ ฤาษีอนุสิษฎ์สถิตย์อยู่หะสิกะวัลลีนคร (ศรีสัชนาลัย) ฤาษีพุทธะชลิต ซึ่งสถิตอยู่ดอยขุหะระบรรพต แม่น้ำสารนัทที (ดอยมา) ฤาษีสุพรหมสถิตอยู่ ณ ดอยงามใกล้แม่น้ำวัง และฤาษีนารอด ซึ่งเป็นองค์ปฐมแรกในการสร้างพระรอดกับอัญเชิญวิญญาณพระนางจามเทวี กษัตริย์ทุกพระองค์ในกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยาและกรุงลานนาไทย และกรุงรัตนโกสินทร์ เวลา ๑๙.๒๙ ประกอบพิธีจุดเทียนไชย พระมหาราชครูวามมุนี อ่านโองการชุมนุมเทวดาและสรรเสริญพระรัตนยาธิคุณ เสร็จแล้ว พราหมณ์เป่าสังข์แกว่งปัณเฑาะว์ ครั้นแล้วพระครูวามมุนี อาราธนาพระปริต พระธรรมราชานุวัตร กับคณาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษสวดพระปริต พระสูตรต่างๆ จบแล้วพระคณาจารย์ทั้งหมดนั่งปรกบริกรรมปลุกเศกตลอดคืน พิธีนี้ พล.ร.ต. หลวงสุวิชาแพทย์ รน. ได้มาร่วมในพิธีตลอดเวลา ปรากฏว่าผู้ใดได้พระรอดรุ่นนี้ไปบูชา จะมีโชคชัย ปลอดภัย สวัสดิมงคล และเป็นมหานิยม มหาอำนาจ คงกะพันชาตรี โภคทรัพย์ ซึ่งจะหามิได้ต่อไปอีกแล้ว


http://board.palungjit.org/f15/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%94-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B9%8C-%E0%B8%88-%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B8%9E-%E0%B8%A8-%E0%B9%92%E0%B9%94%E0%B9%99%E0%B9%96-256834.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น