วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

'พระรอด'ครูบากองแก้ววัดมหาวันลำพูน

ความเชื่อในคุณวิเศษของ "พระรอด" กรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน เรื่องแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง เช่นเดียวกับ พระคง ที่เชื่อว่าอยู่ยงคงกระพัน เป็นวัฒนธรรมความเชื่อของคนท้องถิ่นมานานกว่าร้อยปี ตั้งแต่การขุดพบพระรอดครั้งแรก สมัยพระเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร ในการบูรณะเจดีย์วัดมหาวัน เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ จนเกิดความนิยมเช่าหากันในวงกว้าง ทำให้ราคาการซื้อขายขึ้นสู่หลักแสนหลักล้านในทุกวันนี้ สุดวิสัยที่ชาวบ้านทั่วไปจะหามาครอบครองได้ จึงต้องมองหา พระรอด ที่สร้างขึ้นในยุคหลังมาใช้ทดแทน โดยเฉพาะรุ่นที่สร้างขึ้นในวัดมหาวัน ซึ่งเป็นแหล่งขุดพบ พระรอด องค์ต้นแบบ    
              การสร้างพระรอดยุคหลังของวัดมหาวัน มีมาร่วมร้อยปี เช่น พระรอดแขนติ่ง พระรอดครูบากองแก้ว พระรอดน้ำต้น มาจนถึง พระรอด วัดพระสิงห์ พ.ศ.๒๔๙๖ พระรอด วัดชัยพระเกียรติ พ.ศ.๒๔๙๗ ฯลฯ ล้วนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพระรอดที่มีต่อคนล้านนาเป็นอย่างดี

              ความจริงแล้ว พระรอดครูบากองแก้ว หรือ พระรอดบากองแก้ว เป็นที่รู้จักและนิยมกันมานานแล้ว เช่นเดียวกับ พระรอดแขนติ่ง และ พระรอดน้ำต้น ซึ่งมีบันทึกประวัติการสร้าง จากหนังสือ "ปริอรรถาธิบายพระรอด" ของ "ตรียัมปวาย" พิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๓ ไว้ว่า

              “ในปีพ.ศ.๒๔๘๕ ระหว่างสงครามอินโดจีน ภิกษุ กองแก้ว (ราชจินดา) รองเจ้าอาวาส (สมัยพระครูวินัยธร "ญาณวิจารณ์” เป็นเจ้าอาวาส) ได้ปฏิสังขรณ์ฐานพระเจดีย์มหาวัน อีกครั้ง เนื่องจากเกิดไม้กาฝากทำให้ชำรุด และในการปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ได้พบ พระรอด ซึ่งเจ้าอินทยงยศโชติ ได้จัดสร้างขึ้นในปีพ.ศ.๒๔๕๑ บรรจุไว้ มีผู้แตกตื่นมาขอเช่าบูชากันเป็นอันมาก โดยเข้าใจผิดว่าเป็น พระรอดรุ่นจามเทวี”

              “พระรอดกองแก้ว ในระยะเวลาใกล้กับการพบพระรอดอินทยงยศ นั้น ภิกษุกองแก้ว ได้สร้างพระรอดรุ่นใหม่ขึ้นอีกรุ่นหนึ่ง เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๕ เรียกกันว่า พระรอดเสาร์ห้า หรือ พระรอดกองแก้ว การผสมเนื้อ ใช้ดินหรดาล ซึ่งขุดได้หม้อหนึ่ง เมื่อคราวมีการขุดหาพระรอดที่บริเวณลานวัด มาเป็นเชื้อผสมด้วย กล่าวกันว่า เป็นดินพิเศษ มีกลิ่นหอม พระรอดกองแก้ว นี้ มีข้าราชการทหาร และประชาชน มาเช่าบูชากันมาก”

              จากคำบอกเล่าของ อ.สันต์ ตาบุรี ผู้สร้าง พระรอดน้ำต้น ใน “ประวัติการสร้างพระรอดน้ำต้น” เขียนโดย "บังไพร" นิตยสารมหาโพธิ์ ฉบับที่ ๓๑ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๖ พอจะสรุปได้ว่า "ครูบากองแก้ว เริ่มสร้างพระรอดตั้งแต่สมัยยังเป็นสามเณร อายุประมาณ ๑๙-๒๐ ปี (พ.ศ.๒๔๖๔ ) สมัยนั้น พระรอดมหาวัน รุ่นเก่า ยังไม่มีราคาค่างวดอะไร การสร้างพระของสามเณรกองแก้ว น่าจะมีเจตนาเพื่อบูรณะพระรอด และพระลำพูนพิมพ์อื่นๆ ที่แตกหักชำรุดเสียหาย เป็นจำนวนมาก เล่ากันว่า วางอยู่บริเวณโคนต้นไม้ในวัดเต็มไปหมด มากกว่าที่จะตั้งใจปลอมแปลงพระรอดรุ่นเก่า"

              จากบันทึกของ "ตรียัมปวาย" และ อ.สันต์ ตาบุรี อาจกล่าวได้ว่า พระรอดครูบากองแก้ว มีการสร้าง ๒ ครั้ง ครั้งแรก สมัยเป็นสามเณร ประมาณ (พ.ศ.๒๔๖๔) ครั้งที่สอง สมัยเป็นรองเจ้าอาวาส พ.ศ.๒๔๘๕

              สมัยก่อน เซียนพระรอดรุ่นเก่าอย่าง ลุงเสมอ บรรจง  เฮียวัลลภ ร้านทองแสงฟ้า พี่สมศักดิ์ พร้อมเชื้อแก้ว ทวี โอจรัสพร ฯลฯ เล่นพระรอดครูบากองแก้ว กันอยู่ ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์เล็ก และพิมพ์ต้อ ทั้ง ๒ พิมพ์นี้ลักษณะองค์พระและฐานใกล้เคียงกับพิมพ์ของพระรอดรุ่นเก่าของกรุวัดมหาวันมาก ต่างกันที่ตำแหน่งของใบโพธิ์ บางองค์เนื้อจัด เหมือนพระรอดรุ่นเก่า พิมพ์เล็กเป็นพิมพ์นิยม สวยๆ ราคาหลายหมื่น

              ต่อมาเมื่อปี ๒๕๒๘ มีการขุดพบพระรอดครูบากองแก้ว โดย นายปั๋น และ หนานสม ได้จากลานวัดมหาวัน ใต้ต้นมะม่วง ใกล้กุฏิเจ้าอาวาส ได้พระรอดร่วมพันองค์ในหม้อดิน มี ๕ พิมพ์ด้วยกัน คือ พิมพ์ใหญ่ กลาง เล็ก ต้อ ตื้น พระส่วนใหญ่เนื้อสีเหลืองและเขียว ลักษณะการขุดพบ เป็นการขุดหาพระรอดรุ่นเก่า บริเวณลานวัด ช่วงนั้นพระบางส่วนได้ทะลักเข้าตลาดพระ ตลาดบุญอยู่ ข้างโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เป็นตลาดพระใหญ่ที่สุดของ จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว เซียนหลายคนดูแล้ว บางคนบอกไม่เก่า บางคนยืนยันว่าเก่า แท้ แน่นอน วงการพระเครื่องท้องถิ่นยังมีความเห็นแตกต่างกันเรื่องพิมพ์ หลายคนไม่กล้าเล่น ราคาพระก็ไม่ขยับ ความนิยมเลยเป็นรอง พิมพ์เล็ก และพิมพ์ต้อ จนถึงวันนี้

              ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะว่า ให้ดูธรรมชาติความเก่าเป็นหลัก เพราะพระอายุ ๗๐-๘๐ ปี ฝังอยู่ในดิน ดูยังไงก็ต้องเก่า ทางที่ดีเลือกพิมพ์นิยม ไว้ก่อน สบายใจกว่า ใครอยากได้พระรอดมหาวันไว้ใช้ องค์นี้ใช่เลย เพราะใช้ชิ้นส่วนพระรอดเก่าที่หักชำรุด ซึ่งมีคุณวิเศษอยู่แล้ว เป็นส่วนผสมหลัก พุทธคุณจึงเหมือนพระรอดรุ่นเก่า แต่ราคาย่อมเยากว่ากันมากมาย


http://www.komchadluek.net/detail/20120503/129379/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%99.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น