วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ภูมิปัญญาการปั้นพระรอด ลมหายใจแห่งวิถีชีวิต

 แม้กระแสจตุคามรามเทพ จะระบาดไปทั่วประเทศ มีศรัทธาประชาชนจำนวนมากห้อยจตุคามรามเทพ ทั้งที่รู้และไม่รู้ถึงที่มาที่ไป บางคนห้อยเพราะเห่อตามกระแสจะองค์ไหนรุ่นไหนก็ได้ บางคนห้อยเพราะแรงศรัทธา

ไม่เว้นแม้แต่ในแผ่นดินล้านนา จตุคามรามเทพได้แพร่ขยายเข้ามา จนเมื่อเวลาเดินทางผ่านวัดไหนก็จะเห็นป้ายพิธีปลุกเสกจตุคามรามเทพแทบทุกวัด สนนราคามีให้เช่าตั้งแต่องค์ละ 99 บาทไปจนถึงองค์ละ 599 บาท หรือบางทีองค์ละหลายพันก็ยังมี ทว่าถ้าไปถามในบรรดาพุทธศาสนิกชนคนเมืองล้านนาในรุ่นเก่าแล้ว หลายคนไม่ได้สนใจกระแสจตุคามรามเทพมากนัก เพราะว่าจตุคามรามเทพมีถิ่นกำเนิดไม่ได้อยู่ในภาคเหนือ ดังนั้นจะให้คนรุ่นเก่าเข้าถึงศรัทธาคงเป็นไปได้ยาก

จะว่าไปแล้ว สิ่งที่คนภาคเหนือ (โดยสายเลือดแท้ ๆ) นิยมห้อยกันคงหนีไม่พ้นพระเครื่องของเกจิที่มีชื่อเสียงในอดีต เช่น ห้อยเหรียญครูบาศรีวิชัย ห้อยเหรียญหลวงปู่แหวนสุจิณโณ ห้อยพระรอดวัดมหาวัน เป็นต้น โดยเฉพาะพระรอดวัดมหาวันลำพูน ถือได้ว่าเป็นวัตถุมงคลที่มีอายุเก่าแก่เกินกว่า 1,000 ปี อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในพระเครื่องเบญจภาคี

นักนิยมพระเครื่องหลายต่อหลายคนเมื่อมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดลำพูน ส่วนใหญ่ไม่พลาดที่จะแวะเข้าไปที่วัดมหาวัน วัดแห่งนี้นอกจากจะเป็นวัดหลวงเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวีแล้ว วัดนี้ยังเป็นต้นตำนานของพระรอดเมืองลำพูน ที่นักสะสมพระเครื่องต่างต้องการมีไว้ครอบครอง

ผมเองแม้ว่าจะไม่ใช่นักเลงเล่นพระตัวยงแต่กระนั้นผมก็ยังห้อยคอด้วยพระรอดพิมพ์เล็กที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ แม้สนนราคาค่าเช่าจะไม่สูงมากนักแต่การที่ผมเป็นคนลำพูนโดยกำเนิดจึงไม่อายใครและเต็มใจที่จะห้อยพระรอดอย่างภาคภูมิ

หลายท่านอาจสงสัยว่าพระรอดวัดมหาวันลำพูนเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมถึงมีราคาเช่าสูงนัก ผมอาจจะไขคำถามต่าง ๆ ได้ไม่ชัดเจนนักเพราะว่าไม่ใช่คนเล่นพระ แต่ถ้าจะถามถึงประวัติความเป็นมาของพระรอดและวัดมหาวันละก็ พอจะตอบได้บ้าง 

เป็นที่รู้กันดีว่าวัดมหาวันลำพูนเป็นต้นกำเนิดของพระรอด ถ้าลองย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.1200 เศษเมื่อมีฤาษีสององค์นามว่า "วาสุเทพฤาษีและสุกกทันตฤาษี" ซึ่งทั้งสองเป็นพระสหายกันได้ปรึกษาหารือตกลงที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นทางริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกวง เมื่อพระฤาษีทั้งสองสร้างเมืองแล้วเสร็จจึงได้ให้ควิยะบุรุษเป็นทูตไปอัญเชิญพระนางจามเทวีราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้ขึ้นมาปกครองเมืองพร้อมด้วยข้าราชบริพาร พระสงฆ์ พราหมณาจรรย์ โหราราชบัณฑิต แพทย์และช่างต่าง ๆ อย่างละ 500

พระนางจามเทวีทรงใช้เวลาเดินทางโดยล่องขึ้นมาตามแม่น้ำปิงนานกว่า 7 เดือน จากบันทึกจามเทวีวงศ์พงศาวดารเมืองระบุว่า เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จมาถึงนครหริภุญชัยได้ 7 วันก็ทรงประสูติพระโอรสทั้งสองพระองค์คือ อนันตยศและมหันตยศ หลังจากนั้นวาสุเทพฤาษีและสุกกทันตฤาษีพร้อมด้วยประชาชนพลเมืองจึงได้พร้อมใจกันจัดพิธีราชาภิเษกพระนางจามเทวีขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์เสวยราชสมบัติในเมืองหริภุญชัย

เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จขึ้นครองเมืองหริภุญชัยแล้ว พระองค์จึงได้ชักชวนอาณาประชาราษฏร์ให้ร่วมกันสร้างพระอารามใหญ่น้อยเพื่อถวายแด่พระรัตนตรัย ทั้งยังเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ที่มาจากกรุงละโว้ ซึ่งวัดต่างที่พระนางจามเทวีได้ทรงสร้างขึ้นมีอยู่ 5 วัดด้วยกัน

วัดอรัญญิกรัมมาราม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ปัจจุบันคือวัดดอนแก้วรวมกับวัดต้นแก้ว
วัดมูลการาม อยู่ทางทิศใต้ คือวัดกู่ละมัก (ลมักกัฏฐะ) ปัจจุบันคือวัดรมณียาราม
วัดอาพัทธาราม อยู่ทางทิศเหนือ ปัจจุบันคือวัดพระคงฤาษี
วัดมหาลดาราม อยู่ทางทิศใต้ ปัจจุบันคือวัดประตูลี้
วัดมหาวนาราม อยู่ทางทิศตะวันตก ปัจจุบันคือวัดมหาวัน

เมื่อสร้างวัดขึ้นทั้ง 5 วัดแล้ว พระนางจามเทวีก็ได้สร้างพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ทั้ง 5 วัด ส่วนวาสุเทพฤาษีและสุกกทันตฤาษี จึงได้มาปรารภกันว่าเมืองหริภุญชัยนครนี้มีสตรีเป็นเจ้าผู้ครองนคร ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีข้าศึกมารุกราน ทั้งสองจึงได้ปรึกษาหารือที่จะสร้างเครื่องลางของขลังไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชารักษาบ้านเมืองและเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารและอาณาประชาราษฏร์ จึงได้ผูกอาถรรพ์ไว้ตรงใจกลางเมืองแล้วจัดหาดินลำพูนทั้ง 4 ทิศพร้อมด้วยว่านอีกหนึ่งพันชนิดและเกสรดอกไม้มาผสมเข้าด้วยกันกับเวทย์มนต์คาถาจากนั้นคลุกเคล้ากันจนได้ที่จัดสร้างพระพิมพ์ขึ้น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่า "พระคง" เพื่อความมั่นคงของนครหริภุญชัยอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า "พระรอด" เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็สุมไฟด้วยไม้มะฮกฟ้าหรือป่ารกฟ้า เป็นเวลานาน 7 วัน 7 คืน แล้วจึงนำพระคงที่เผาแล้วไปบรรจุไว้ที่วัดพระคงฤาษี นำพระรอดไปบรรจุไว้ที่วัดมหาวัน

พระรอดวัดมหาวันกลายเป็นพระเครื่องชื่อดังที่มีราคาค่าเช่าสูงมาก ทั้งยังถูกบรรจุไว้เป็นพระกรุเก่าแก่หนึ่งในเบญจภาคีที่นักนิยมพระเครื่องต่างแสวงหา แม้ในระยะหลังจะมีการทำพระรอดขึ้นมาใหม่ทว่าพระรอดเก่าที่ถูกขุดโดยชาวบ้านก็กระจายไปอยู่ในมือของนักสะสมพระทั่วไป ซึ่งหาชมได้ยากสนนราคาค่าเช่าองค์ละหลักหมื่นจนถึงแสน แม้พระรอดรุ่นเก่าจะไม่มีให้คนรุ่นหลังได้คล้องคอแล้ว ทว่าปัจจุบันยังมีกลุ่มคนในชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์ สืบทอดภูมิปัญญาในการปั้นพระรอดมาจนถึงปัจจุบัน

หากจะกล่าวถึงการปั้นพระรอดของคนมหาวันแล้ว เริ่มแรกเดิมทีเกิดขึ้นจากการปั้นพระในวัดก่อน โดยจะมีครูบาหรือพ่ออาจารย์ (ปู่จารย์) เป็นผู้ริเริ่มในการปั้นพระ จากนั้นจึงเกณฑ์ชาวบ้านในหมู่บ้านมาช่วยกันปั้น บุคคลที่มีฝีมือในการปั้นพระรอดวัดมหาวันได้แก่ ครูก๋องแก้ว อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาวันและพ่อจารย์ปั๋น ซึ่งท่านทั้งสองอยู่และคลุกคลีกับการปั้นพระรอดมานานเกือบ 50 ปี

การปั้นพระส่วนใหญ่จะนิยมทำกันในเดือนเป็ง (วันเพ็ญ) โดยเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ โดยจะทำให้เสร็จภายใน 1 วัน

ลุงวิมล สันตติภัก อายุ 59 ปี ซึ่งเคยบวชเป็นพระอยู่ที่วัดมหาวันและท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้เรื่องการปั้นพระรอด เล่าว่า การปั้นพระในสมัยก่อนจะปั้นเนื่องในโอกาสที่จะออกรบทำเป็นเครื่องลางของขลัง โดยดินที่จะนำมาปั้นพระรอดนั้นส่วนใหญ่จะเอามาจากหนองบัวบริเวณข้างวัดพระยืนและดินหัวกวง ซึ่งเป็นดินหัวแม่น้ำกวงบริเวณสะพานดำใกล้กับสถานีรถไฟ ซึ่งคนโบราณถือว่าเป็นดินมงคลเป็นดินขาวเนื้อละเอียดเมื่อเผาแล้วจะได้พระรอดเนื้อสีครีมเหลืองเหมือนสีดอกจำปี เมื่อนำดินมาแล้วก็จะทำการตากดินให้แห้ง จากนั้นก็นำดินที่แห้งแล้วมาตำให้ละเอียดแล้วร่อนเอาตะกอนออก จนได้เนื้อดินที่ละเอียดนำไปผสมน้ำนวดให้ดินเหนียวจนได้ที่แล้วนำมากดลงบนปิมพระรอด (พิมพ์พระรอด) เอกลักษณ์ของพระรอดลำพูนจะสังเกตเห็นต้องมีรอยนิ้วมือปรากฏอยู่ด้านหลังขององค์พระ

เมื่อปั้นเสร็จแล้วนำพระรอดไปผึ่งให้แห้งจากนั้นจึงเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิประมาณ 600 - 900 องศา ค่อย ๆ เพิ่มความร้อนจนได้ที่ ไม้ที่นำมาใช้เผาพระรอดจะต้องเป็นไม้รสหวาน เช่นไม้ลำใย ส่วนไม้รสเปรี้ยว เช่นไม้มะยม ไม้มะขามไม่นิยมนำมาเผาพระ เพราะจะทำให้เนื้อพระรอดแตก

ลุงวิมล เล่าอีกว่า การปั้นพระรอดในสมัยก่อนจะทำเพียงครั้งเดียวหลังจากที่ได้พระรอดแล้ว ครูบาหรือปู่อาจารย์ก็จะทำพิมพ์พระรอดทันที เพื่อมิให้นำกลับมาทำซ้ำอีก ส่วนใหญ่พิมพ์พระหรือปิมพระนิยมทำมาจากดินหรืองาช้าง โดยจะนำพระต้นแบบซึ่งแกะจากหินนำมากดทับลงบนดินแล้วนำไปเผาไฟให้สุกเพื่อใช้ทำเป็นพิมพ์พระรอด จากการขุดค้นพระรอดวันมหาวันเมื่อราว 30 ปีก่อนยังพบพิมพ์พระรอดถูกฝังไว้ใต้ฐานพระเจดีย์เป็นจำนวนมาก โดยในจำนวนนั้นมีพิมพ์พระรอดของครูก๋องแก้ว พิมพ์พระรอดของมหาสิงฆะ วรรณสัยและของเกจิอีกหลายท่าน

ปัจจุบันแม้ว่าพระรอดวัดมหาวันจะเป็นวัตถุมงคลมีค่าหายากก็ตาม แต่กระนั้นยังมีกลุ่มคนในชุมชนยังคงสืบทอดภูมิปัญญาในการปั้นพระรอดมาจนถึงปัจจุบัน อันถือเป็นการสานต่อจิตวิญญาณแห่งบรรพชนในอดีตเอาไว้มิให้สูญหาย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของคนลำพูนที่ลมหายใจแห่งชีวิตยังคงดำเนินต่อไปในท่ามกลางกระแสแห่งวัฒนธรรมตะวันตก จนบางทีอาจพูดได้อย่างเต็มปากว่านี่แหละคือวิถีแห่งมรดกโลกที่ยังมีลมหายใจอยู่โดยไม่ต้องรอให้องค์การยูเนสโกมาประกาศก็เป็นได้


http://www.lannacorner.net/lanna2012/article/article.php?type=A&ID=659

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น