วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เปิดกรุ'พระรอด'พันปี วัดมหาวัน ลำพูน




"เที่ยวเมืองลำพูนไหว้พระรอดเก่าแก่ 1,400 ปี หรือพระเครื่องสกุลลำพูน พระรอด ยอดสูงส่งฯ" เป็นคำกล่าวถึงวัตถุมงคล พระเครื่องสกุลลำพูนที่วงการ พระเครื่องให้ความนิยมเดินทางมาเช่าบูชา ที่วัดมหาวัน อ.เมือง จ.ลำพูน



พระรอดหลวงเป็นพระคู่เมืองลำพูน เป็นพระคู่วัดมหาวัน



เริ่มที่ประวัติของวัดมหาวัน ตั้งอยู่ใกล้คูเมืองด้านทิศตะวันตก ริมถนนจามเทวี มีประวัติยาวนานนับพันปี เล่าขานกันว่า ฤๅษี 4 ตนได้สร้างจตุรพุทธปราการถวายพระนางจามเทวี เจ้าผู้ครองเมืองลำพูน โดยสร้าง พระเครื่องบรรจุไว้ในกรุของแต่ละพระอารามแห่งจตุรพุทธปราการ เพื่อสืบอายุพระศาสนาและเพิ่มเกณฑ์ชะตาพระนคร



"จตุรพุทธปราการ" ในปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า วัดสี่มุมเมือง ประกอบด้วย 1.อรัญญิกรัมการาม (วัดดอกแก้ว) ในด้านทิศประจิม 2.อาพัทธาราม (วัดพระคง) ในด้านทิศอุดร 3.มหาวนาราม (วัดมหาวัน) ในด้านทิศปัจฉิม และ 4.มหารัตตาราม (วัดประตูลี้) ในด้านทิศทักษิณ



วัดมหาวัน หรือวัดมหาวนาราม ซึ่งเป็นทวารพระนครทางทิศตะวันตก ห่างจากประตูมหาวันประมาณ 50 เมตร คำว่ามหาวนาราม เป็นคำสนธิของคำว่า มหาวัน-อาราม แสดงว่าพระอารามนี้ยังคงมีนามเช่นเดิมมาตั้งแต่แรกสถาปนาเมื่อ 1,400 กว่าปีมาแล้ว



อาร์ เลอ เมย์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุไว้ว่า ในจามเทวีวงศ์กล่าวว่าพระนางจามเทวีได้ทรงสถาปนาพระอารามทั้ง 5 ขึ้นในลำพูน (จตุรพุทธปราการและสุสานหลวง)



หนึ่งในพระอารามทั้งห้านี้ได้แก่ มหาวัน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร วัดนี้ในปัจจุบันตั้งอยู่ใกล้กับประตูด้านตะวันตก และยังคงมีนามเช่นเดิมอยู่แม้ในทุกวันนี้ ยังได้พบศิลาจารึกภาษามอญหลักหนึ่งที่วัดนี้ด้วย





ต่อมาพระเจ้าสรรพสิทธิ์บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาวัน ทรงปฏิสังขรณ์วัดมหาวัน และพระเจดีย์ ภายในเจดีย์เป็นที่บรรจุพระรอดนั่นเอง



นอกจากนี้ ในตำนานมูลศาสนา ได้กล่าวถึง มหาเจดีย์เจ้า วัดมหาวัน ในที่นี้คือพระเจดีย์โบราณอันเป็นกรุพระรอด



ในพระวิหารวัด มหาวัน มีพระรอดหลวง หรือพระพุทธสักขีปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปหินสลัก หน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอก แต่ถูกพอกปูนเสียจนไม่เห็นศิลปะเดิม ประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานปางมารวิชัยในพระอุโบสถของวัดมหาวัน



ชาวบ้านยังเรียกอีกว่า "แม่พระรอด"



ส่วนมหาเจดีย์เจ้า หรือที่เรียกว่ากรุพระรอด เป็นเจดีย์สีทองอร่ามสวยงามอยู่ด้านหลังวิหาร จะมีพระรอดหน้าตักประมาณ 1 ศอก 4 องค์ประดิษฐานรอบเจดีย์ 4 ทิศ มีรั้วล้อมรอบองค์เจดีย์ไว้ทั้งหมด



"พระมหาโพธิ์" เป็นต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัด เล่าขานกันว่าโพธิ์ต้นนี้สืบเชื้อสายมาจากพระศรี มหาโพธิ์ที่พระนางจามเทวีทรงปลูกไว้เมื่อพันปีก่อน



ภายในวัดมหาวัน นอกจากมีวิหารสวยงามแล้ว พระอุโบสถมีลวดลายไทยที่งดงามเช่นกัน มีหอไตรหรือหอธรรมก็มีลวดลายโดดเด่น



รวมถึงหน้าบันหอไตรลวดลายมังกร และหอระฆังเก่าแก่ด้วย



หนึ่งในเบญจภาคี



สําหรับประวัติความเป็นมาของ"พระรอด" ซึ่งจัดเป็นพระเครื่อง 1 ในเบญจภาคี



นายพิศาล เตชะวิภาค หรือ ต้อย เมืองนนท์ อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่อง พระบูชาไทย กล่าวในการอบรมหลักสูตรการบรรยายเกี่ยวกับทักษะพื้นฐานความรู้ "พระรอด" ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน (มติชน อคาเดมี) เมื่อเดือนมิ.ย.





ระบุว่าพระรอดเป็นพระพิมพ์ขนาดเล็กที่สุดในบรรดาพระเครื่องสกุลลำพูน สร้างครั้งแรกเมื่อ 1,400 ปีก่อน โดยนารทฤๅษี หรือฤๅษีนารอด ผู้ดูแลวัดมหาวัน



พระรอดเป็นพระที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดมหาวันโดยตรง เพราะพระรอดแตกกรุในวัดมหาวันที่เดียว ไม่เคยมีใครพบพระรอดใน กรุอื่นเลย และการแตกกรุของพระรอดนั้น เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา



ครั้งแรกในพ.ศ.2435 เพราะมหาเจดีย์ ถูกฟ้าผ่า 



ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปีพ.ศ.2451 หลังจาก ครั้งแรก 16 ปี



ครั้งที่ 3 ชาวบ้านช่วงที่ว่างจากการทำนา ก็พากันมาขุดพระรอด



ครั้งที่ 4 พ.ศ.2498 มีการปฏิสังขรณ์กุฏิ เจ้าอาวาส มีการขุดหลุมเพื่อตั้งเสา ก็เจอพระรอดอีก



ครั้งที่ 5 พ.ศ.2506 มีการรื้อพื้นพระอุโบสถ เพื่อปูกระเบื้องใหม่ เจอพระรอดอีกครั้ง



การแตกกรุ 5 ครั้ง คิดว่าในวงการพระทั้งหมดรวมทุกพิมพ์น่าจะมีหลายพันองค์



พระรอดมีทั้งหมด 5 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้น



จะแตกต่างกันทางลักษณะทางกายภาพ มีทั้งหมด 5 สี คือ สีขาว สีเหลือง สีแดง สีเขียว และสีขาวปนดำ (มอย) คือ สีออกเทาๆ กระเดียดไปทางเขียว



พระรอดพิมพ์ใหญ่ เป็นที่นิยมที่สุด สง่างาม สวยที่สุด เป็นพระพิมพ์เดียวที่จะประทับอยู่บนยอดบนฐาน 4 ชั้น มีโพธิ์ข้างๆ 2 แถว



มีเส้นสำคัญที่สุดและต้องมีทุกองค์ เป็นเส้นน้ำตก เป็นเส้นแตกลงมา คล้ายน้ำตกไหลสู่พื้น อยู่บริเวณใต้ข้อมือ จะเริ่มจากข้อมือซ้ายขององค์พระจนถึงฐานชั้นที่สอง แตกกระจายเป็นสามเส้น



พระรอด มีความเชื่อกันว่าเป็นเทวีแห่งนิรันตราย เพราะใครแขวนพระรอดแล้วจะไม่ตายโหง จะรอดตาย แคล้วคลาด ปราศจากภยันตราย มีเสน่ห์เมตตามหานิยม ได้ลาภผล



สำหรับพระรอดที่ทางวัดมหาวันมีให้เช่าบูชาขณะนี้ มี พระรอดมหาวัน รุ่น 1 สร้างที่ยมกปาฏิหาริย์ สาวัตถีอินเดีย (องค์ดำ องค์ใหญ่) หน้าตักกว้าง 2 นิ้วครึ่ง



และพระรอดหลวง องค์จำลองจากในวิหาร หน้าตัก 2 นิ้ว ทางวัดสร้างขึ้นมาให้เช่าบูชา เพื่อนำรายได้บูรณะวัดทั้งหมด



ชมศิลปะดินเผา-ชิมอาหารพื้นเมือง



หากเดินทางมาไหว้พระรอดเมืองลำพูนที่วัดมหาวันแล้ว ยังไป เที่ยวชมสวนไม้พ่อเลี้ยงหมื่น ตั้งอยู่ที่ 137/1 หมู่ 6 ต.ริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูน อยู่ห่างจากวัดมหาวันประมาณ 6 ก.ม. บนถนนลำพูน-สันป่าตอง-เชียงใหม่เช่นกัน



เพราะศิลปะเครื่อง ปั้นดินเผาที่นี่ ทำมาจาก "ดินลำพูน" ที่ถือว่ามีคุณค่าทางธรรมชาติ ในอดีตมีการนำดินดังกล่าวสร้างพระรอดที่คงทนแข็งแกร่ง



ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-5300-0222, 0-5327-8187



ส่วนร้านอาหารพื้นเมืองอร่อยๆ มีร้าน "ครัววันดี" ตั้งอยู่เลขที่ 163 ม.10 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเดินทางจากวัดมหาวันไปสวนพ่อเลี้ยงหมื่น 



เป็นอาหารพื้นเมืองตามฤดูกาล เมนูอร่อย มีแกงหน่อไม้สด แกงเห็ด แกงตูนใส่ปลา



ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-5358-2111



ที่พักใกล้เคียง มีโรงแรมลำพูน วิลล์ ตั้งอยู่เลขที่ 204/10 ถ.จามเทวี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ลำพูน เบอร์โทร 0-5353-4865 อยู่ใกล้กับวัดมหาวัน และอยู่ตรงข้ามวัดจามเทวี

http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVEU1TURnMU5nPT0=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น