วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การพิสูจน์ว่า พระรอดลำพูน กรุวัดมหาวัน แท้หรือไม่

การพิสูจน์ว่าพระรอดลำพูน กรุวัดมหาวัน แท้หรือไม่
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระรอด กรุวัดมหาวัน ลำพูน ถ้าเป็นพระแท้ เนื้อพระสามารถกรีดกระจกเป็นรอยได้จริงหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีคนเขาพูดถึงในสมัยอดีต แต่เมื่อหลายวันก่อนผมได้ไปที่บ้านเพื่อนเก่าคนหนึ่ง เมื่อไปถึงก็พบว่าเขากำลังเถียงกันกับเพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้เล่นหาสะสมพระทั้งคู่ เรื่องที่เถียงกันก็คือเรื่องเนื้อพระรอดแท้ๆ ต้องกรีดกระจกเข้าเป็นรอยและได้เห็นเพื่อนที่เป็นเจ้าของบ้านนำพระรอดซึ่งเป็นของเก่าตกทอดมา นำมากรีดกระจกพื้นโต๊ะที่กำลังสนทนากันอยู่ และที่กระจกก็เกิดรอยกินเข้าไปในเนื้อกระจก แต่ทั้งสองคงยังหาข้อยุติไม่ได้ พอดีผมเดินเข้ามาทั้งสองคนจึงเรียกให้ผมตัดสินว่าการพิสูจน์ว่าพระรอดแท้หรือไม่นั้นต้องนำพระรอดมากรีดกระจก ถ้ากรีดเข้าก็แสดงว่าเป็นพระแท้ แต่ถ้ากรีดกระจกไม่เข้าแสดงว่าเป็นพระปลอมจริงหรือไม่ โดยที่ทั้งสองคนได้บอกกับผมว่า ได้ยินคนเฒ่าคนแก่เขาบอกมาว่า พระรอดเป็นพระเก่าแก่มาก จนเนื้อของพระแข็งคล้ายเป็นหิน เขาว่ามาอย่างนั้น ผมจึงต้องอธิบายให้ทั้งสองเข้าใจให้ถูกต้องเสียใหม่ว่าการพิสูจน์ว่าเป็นพระเครื่องแท้หรือไม่นั้น เขาดูกันที่พิมพ์เป็นอันดับแรกว่าถูกพิมพ์หรือไม่ เพราะ
พระเครื่องเกิดมาจากแม่พิมพ์ ดังนั้น พระที่เกิดมาจากแม่อันเดียวกัน รายละเอียดขององค์พระต้องเหมือนกัน ขนาดก็ต้องใกล้เคียงกัน ส่วนเรื่องเนื้อของพระก็มีความสำคัญ คือพระที่สร้างในคราวเดียวกัน เนื้อก็ควรจะมีลักษณะเดียวกันด้วย ประการที่สามก็คือ สภาพความเก่าตามอายุของพระนั้นๆ ว่าสร้างมากี่ปี ควรจะมีสภาพความเก่าถูกต้องตามอายุหรือไม่
เพื่อนผมคนที่เป็นเจ้าของบ้านใจร้อน บอกว่าเรื่องพิมพ์เรื่องความเก่าเอาไว้อธิบายวันหลัง ตอนนี้เอาเรื่องเนื้อพระก่อน เอ้าเรื่องเนื้ออย่างเดียวก็เรื่องเนื้อ ผมก็เลยต้องพูดถึงเรื่องเนื้อพระรอดว่า พระรอดกรุวัดมหาวัน ที่เป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาคีนั้น เนื้อของพระเป็นเนื้อดินเผาที่ละเอียดมาก เท่าที่พบไม่ปรากฏเม็ดกรวดทรายในเนื้อพระเลย ต่างจากพระเครื่องเมืองลำพูนชนิดอื่นๆ อาจจะเป็นได้ว่าองค์พระรอดมีขนาดเล็ก เขาจึงไม่ได้ผสมเม็ดกรวดลงไปในเนื้อพระ เพราะเม็ดกรวดจะเข้าไปติดแม่พิมพ์ทำให้รายละเอียดเล็กๆ ลบเลือนไป เนื้อพระรอดจึงเป็นเนื้อดินเผาละเอียด ส่วนการเผาไฟนั้นเขาก็เผาแบบใช้เวลานานจนเนื้อพระสุกดี มีความแกร่งของเนื้อพระค่อนข้างสูง ส่วนมากที่พบเนื้อพระจะมีความแกร่งมาก และมีพบด้วยกันหลายสี เช่น สีขาวนวลๆ สีเหลืองใบลาน สีแดงอมส้ม และเนื้อสีเขียวแบบครกหิน เป็นต้น และเนื้อที่แกร่งที่สุดก็คือเนื้อเขียวหินครก เนื่องจากถูกไฟเผาใกล้ความร้อนอยู่นานจนเนื้อมีความแกร่งสูง
พระรอด กรุวัดมหาวัน ลำพูน ส่วนเรื่องการพิสูจน์ที่นำพระมากรีดกระจกนั้นเป็นเรื่องความเข้าใจที่ผิด เพราะเนื้อของกระจกนั้นมีความแข็งทนต่อการเสียดสี ประมาณ 5 รู (หน่วยวัดความทนการเสียดสีของวัตถุ ไม่รู้ว่าสะกดถูกหรือเปล่า) ซึ่งอ่อนกว่าเพชรพลอย ดังนั้น เมื่อนำวัตถุที่มีความแข็งใกล้เคียงกันหรือแข็งกว่ามากรีดกระจกๆ ก็จะเป็นรอยได้ทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับพระแท้-พระปลอม เนื้อดินเผาที่เผาได้ดีนั้นกรีดกระจกเข้าเป็นรอยทั้งนั้น ยิ่งพระเครื่องที่มีส่วนผสมของเม็ดกรวดทรายด้วย เวลาเอามากรีดกระจกแล้วเอาตรงที่มีเม็ดกรวดโผล่ขึ้นมาแล้วกรีดลงบนกระจกร้อยทั้งร้อยเข้าเป็นรอยทั้งนั้นครับ หลังจากนั้นผมเคยเอาเศษกระถางต้นไม้ที่แตกตกอยู่แถวๆ นั้นมากรีดกระจกให้ดู ปรากฏว่าเป็นรอยเช่นกัน ทั้งสองคนจึงถึงบางอ้อครับ ตัวผมนึกว่าจะจบเรื่องแค่นั้น จะได้นั่งจิบน้ำมังสวิรัติให้สบายใจหน่อย แต่เจ้าของบ้านยังไม่จบ แถมยังหงุดหงิดนิดหน่อย เพราะข้ออภิปรายยังไม่สิ้นสุด เขาเลยถามต่อว่า พระของเขาที่ได้รับตกทอดมาจากปู่นั้นแท้หรือไม่ เอาล่ะซิครับ ตอนนี้เดือดร้อนผมแล้วล่ะ ถ้าพระแท้แล้วบอกว่าแท้ก็สบายใจด้วยกันทุกฝ่าย แต่ถ้าพระไม่แท้แล้วจะจบกันยังไง (นึกอยู่ในใจ) พอหยิบพระขึ้นมาดูก็ค่อยโล่งอก เพราะว่าเป็นพระรอดแท้ แต่เป็นพระรอดของวัดพระสิงห์เชียงใหม่ ผมก็บอกว่าแท้ แต่เป็นพระรอดของวัดพระสิงห์เชียงใหม่ เป็นพระเก่าเช่นกัน สมัยจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม นู้นพิธีดีมาก เดี๋ยวนี้เริ่มหายากนะ องค์ละหลายบาทเหมือนกัน เก็บไว้บูชาห้อยคอได้เลย เจ้าเพื่อนที่เป็นเจ้าของพระก็เลยยิ้มแล้วบอกว่า แค่นี้แหละ กินกันต่อได้แล้ว เรื่องก็จบลงด้วยดีมังสวิรัติก็หวานครับ

http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538618800&Ntype=40

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น